ความรู้

สำหรับประชาชน


การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข

ภญ.ชญานิศ โฆสิตะมงคล
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล


          การป้องกัน สร้างเสริมสุขภาพ และการรักษาพยาบาลเป็นกระบวนการที่มีค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันหรือรักษาโรคใดก็ตาม ประเทศไทยคำนึงถึงความจำเป็นในการดูแลสุขภาพ จึงได้สร้างนโยบายให้สิทธิประกันสุขภาพหรือที่เรียกว่า “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง)” แก่ประชาชนไทยทุกคน เพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพ ลดปัญหาความยากจนของครัวเรือนจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างประชาชนที่มีฐานะดีกับยากจน โดยรัฐบาลจะช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพให้แก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพและผู้ให้บริการหรือโรงพยาบาลสามารถดำเนินกิจการได้

          ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันการแพทย์มีการพัฒนาและก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้สามารถตรวจคัดกรอง วินิจฉัย และรักษาโรคได้รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น ทั้งนี้ สิ่งเหล่านี้ย่อมมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องมีมาตรการในการควบคุมต้นทุนทางการแพทย์ เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพมากขึ้นอย่างเท่าเทียม ภายใต้งบประมาณของประเทศที่มีจำกัด และทำให้ระบบสุขภาพมีความยั่งยืน การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขเป็นหนึ่งในกระบวนการที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนานโยบายด้านสุขภาพ สามารถใช้ประกอบการตัดสินใจในการพิจารณาความเหมาะสมของนโยบาย เพื่อให้ผู้มีส่วนร่วมไม่ว่าจะเป็นภาครัฐบาล ภาคเอกชน หรือตัวผู้รับบริการเองพิจารณาข้อมูลอย่างเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเทคโนโลยีด้านสุขภาพที่กล่าวถึงนี้ไม่ว่าจะเป็นวัคซีน การตรวจคัดกรองโรค ยา หรือหัตถการทางการแพทย์ต่าง ๆ ที่มีหลักฐานว่ามีประสิทธิภาพที่เหนือกว่าวิธีการรักษาที่มีอยู่ในอดีตอย่างชัดเจน แม้ว่าจะมีต้นทุนที่สูงกว่า ก็มีโอกาสที่ประชาชนไทยทุกคนจะสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องมีความกังวลว่าจะไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายได้ หากผลลัพธ์ที่ได้จากการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขของเทคโนโลยีนั้น ๆ มีความเหมาะสมและอยู่ในเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนดไว้ เนื่องจากเทคโนโลยีด้านสุขภาพนั้นจะถูกนำมาใช้เป็นพื้นฐานสำหรับดูแลสุขภาพของประชาชนและรักษาผู้ป่วยในกรณีที่เหมาะสม

          อย่างไรก็ตาม เนื่องจากทรัพยากรมีจำกัด นักวิจัยไม่สามารถทำการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขของเทคโนโลยีด้านสุขภาพที่มีอยู่ได้ทั้งหมด นอกจากนี้ ผลลัพธ์จากการประเมินไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ใช้ในการตัดสินใจในการพัฒนานโยบายด้านสุขภาพของประเทศไทย ดั้งนั้น เทคโนโลยีที่มีแนวโน้มจะมีประโยชน์ต่อประชาชนหมู่มาก หรือที่ใช้ในการรักษาโรคที่ไม่เคยมีวิธีรักษามาก่อน มักจะเป็นเทคโนโลยีลำดับต้น ๆ ที่จะได้รับการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เพื่อนำผลลัพธ์ที่ได้ไปใช้ในการจัดสรรทรัพยากรด้านสุขภาพ นอกจากการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขแล้ว รัฐบาลยังต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านงบประมาณและความเป็นไปได้อื่น ๆ ของการนำนโยบายไปใช้ร่วมด้วย จึงจะทำให้นโยบายด้านสุขภาพนั้น ๆ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริงในเวชปฏิบัติ ประชาชนได้รับผลลัพธ์ในการป้องกันและรักษาโรคที่มีประสิทธิภาพสูงสุดภายใต้งบประมาณที่มีจำกัด และนำไปสู่สุขภาวะที่ดีของประชาชนไทยทั้งประเทศอย่างยั่งยืน

Copyright 2021 สมาคมอายุรศาสตร์ผู้ป่วยนอก - Ambulatory Medicine Association.