โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya) หรือโรคไข้ปวดข้อยุงลาย
อ. นพ.นฤมิต สายะบวร
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya) หรือโรคไข้ปวดข้อยุงลาย เป็นโรคที่ถูกค้นพบครั้งแรกตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2495 โดยระบาดในประเทศแทนซาเนีย ทวีปแอฟริกา สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา (Chikungunya virus) มีพาหะนำโรคเดียวกับไข้เลือดออก คือยุงลาย (Aedes spp.) ทั้งยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) และยุงลายสวน (Aedes albopictus) ประเทศไทยเริ่มมีการระบาดในพื้นที่ภาคใต้และมีการแพร่กระจายสู่ภาคอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน โดยพบรายงานผู้ป่วยมากกว่าหนึ่งหมื่นรายต่อปี
อาการของโรค หลังจากถูกยุงลายที่มีเชื้อกัด 3-7 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ร่วมกับผื่นแดงตามตัว และปวดตามข้อซึ่งเป็นได้ทั้งข้อเล็กๆ เช่น ข้อนิ้วมือ ข้อมือ และข้อใหญ่ๆ เช่น ข้อไหล่ ข้อเข่า โดยมักมีอาการพอๆ กันทั้ง 2 ข้างของร่างกาย ไข้มักลดลงภายใน 1 สัปดาห์ อาการปวดข้อมักหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ผู้ป่วยส่วนหนึ่งอาจมีปัญหาปวดข้อเรื้อรังหลายเดือนจนถึงเป็นปีโดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคข้ออยู่เดิม ปวดข้อรุนแรงแต่แรก หรือผู้ป่วยสูงอายุ ภาวะแทรกซ้อนอื่นที่เกิดได้แต่พบน้อยมาก เช่น ภาวะสมองอักเสบ ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลัน
การวินิจฉัยโรค ใช้ลักษณะอาการทางคลินิกเป็นหลัก ร่วมกับประวัติการระบาดของโรคในชุมชน หรือ การเดินทางจากแหล่งระบาด การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการวินิจฉัยทำได้โดยการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสจากเลือด โดยมักตรวจพบในช่วง 3-4 วันแรก หากผู้ป่วยมาตรวจช้ากว่า 1 สัปดาห์ หรือในช่วงที่ไข้ลงแล้ว สามารถตรวจหาภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีต่อเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาได้
การรักษา ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสที่ใช้ในการรักษา แนะนำให้รักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้แก้ปวดกลุ่มพาราเซตามอล ในช่วงมีไข้ สำหรับการใช้ยาแก้ปวดกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDS) ไม่แนะนำให้ในช่วงมีไข้ เนื่องจากอาจเป็นไข้จากโรคอื่นหรือโรคร่วมอื่น เช่น ไข้เลือดออก และต้องระมัดระวังการใช้ยาในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคไตอยู่เดิม สำหรับการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์เพื่อรักษาการอักเสบและอาการปวดข้อ ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน
การป้องกันโรค ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันโรค การป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือการป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัด เช่น การสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด การติดตั้งมุ้งลวด การใช้ยาทากันยุง และควรกำจัดแหล่งเพาะพันธ์ยุงลายร่วมด้วย เนื่องจากยุงลายมักวางไข่ในน้ำนิ่งที่อยู่ในบริเวณบ้าน เช่น น้ำในภาชนะเปิด หรือ น้ำในแจกัน ดังนั้นควรกำจัดแหล่งน้ำขังตามที่อยู่อาศัย เทน้ำทิ้ง ปิดฝาภาชนะที่บรรจุน้ำให้มิดชิด เปลี่ยนน้ำที่ปิดฝาไม่ได้ทุก 7 วัน เลี้ยงปลากำจัดลูกน้ำ หรือใช้สารเคมีกำจัดลูกน้ำ