ความรู้

สำหรับประชาชน


วัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นในปี พ.ศ. 2565

ผศ. นพ.ธเนศ ชัยสถาผล
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล


โควิดหรือการติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่มีการระบาดทั่วโลกต่อเนื่องมานานกว่า 2 ปี ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงด้านสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคมต่อมนุษยชาติ จวบจนปี พ.ศ. 2565 นี้การระบาดของเชื้อไวรัสนี้ยังดำเนินอยู่แม้ว่าสถานการณ์จะไม่รุนแรงเท่าปี พ.ศ. 2564 โดยการให้วัคซีนแก่ประชาชนในวงกว้างเป็นมาตรการที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งในการควบคุมการติดเชื้อให้ลดลง (แม้ว่าจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้เด็ดขาด) และลดความรุนแรงของโรคได้อย่างมากหากติดเชื้อ การสร้างภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพต่อบุคคลและส่วนรวมยังเป็นสิ่งสำคัญต่อการอยู่ร่วมกับโควิดไม่ว่าจะมีการระบาดหรือเป็นโรคประจำถิ่นก็ตาม

ในปี พ.ศ. 2565 ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มหลักเรียบร้อยแล้ว แต่ยังได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นได้อย่างจำกัด อาจเกิดจากการขาดความเข้าใจถึงความสำคัญหรือการเกรงกลัวต่อผลข้างเคียง อย่างไรก็ตามงานวิจัยที่น่าเชื่อถือจำนวนมากบ่งชัดว่า ประโยชน์ของการฉีดวัคซีนสูงกว่าโอกาสเกิดผลข้างเคียงเป็นอย่างมาก บทความนี้จึงขอกล่าวถึงหลักการ เหตุผล และคำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นโดยสังเขป

เหตุผลสำคัญของการฉีดวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้น

  1. ภูมิคุ้มกันที่ได้จากการฉีดวัคซีนเข็มหลักรวมถึงภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อตามธรรมชาติจะลดลงจนไม่เพียงพอ กล่าวคือ ประสิทธิภาพของภูมิที่ลดลงจะเพิ่มโอกาสของการติดเชื้อและการมีอาการรุนแรงได้มากขึ้น ระยะเวลาที่ภูมิคุ้มกันตกลงจนไม่เพียงพอเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3-4 เดือนหลังฉีดเข็มหลักครบหรือติดเชื้อตามธรรมชาติ

  2. การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสจนเกิดสายพันธุ์ใหม่ที่น่ากังวล เช่น ปัจจุบัน (เดือน ก.ค. 2565) เป็นช่วงการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนย่อย BA.4 และ BA.5 ที่สามารถหลบหนีภูมิคุ้มกันได้ง่ายขึ้น สายพันธุ์ย่อยนี้ยังต้องติดตามอัตราการเกิดโรครุนแรงรวมถึงอัตราการเกิดผลแทรกซ้อนระยะยาวต่อไป โดยหลักการการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะทำให้ภูมิคุ้มกันเพิ่มความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อกลายพันธุ์ได้ดีกว่าไม่ได้ฉีด

  3. มีงานวิจัยขนาดใหญ่ที่เชื่อถือได้รองรับว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (เข็มที่ 3 และ 4) สามารถลดการเจ็บป่วยรุนแรงได้ดีมาก ลดการเกิดภาวะลองโควิด (long COVID) ได้ดี ลดการติดเชื้อได้ระดับปานกลาง และมีประโยชน์ต่อครอบครัว สังคม และระบบสาธารณสุข 


คำแนะนำการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นโดยสังเขป

  1. ทุกคนควรได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (อย่างน้อยเข็มที่ 3) หากไม่มีข้อห้ามทางการแพทย์ที่ชัดเจน

    1. ผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มหลักเป็นวัคซีนเชื้อตาย (Sinovac/Sinopharm) ควรฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นทันทีโดยไม่ต้องรอ

    2. ผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มหลักเป็นวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า (AstraZeneca) ไม่ว่าจะฉีดสองเข็มหรือฉีดเป็นเข็มไขว้ ควรฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (เข็มที่ 3) โดยเว้นระยะห่างจากเข็มที่ 2 อย่างน้อย 3 เดือน

    3. ผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มหลักเป็นชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (Pfizer, Moderna) ไม่ว่าจะฉีดไขว้หรือไม่ ควรฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (เข็มที่ 3) โดยเว้นระยะห่างจากเข็มที่ 2 อย่างน้อย 3 เดือน

  2. ผู้ที่ควรได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น 2 เข็ม (ควรฉีดเข็มที่ 4) ได้แก่ ผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัว (เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคไตวายเรื้อรัง) ผู้ที่น้ำหนักตัวเกิน 90 กก. หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

    1. การฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 ให้ฉีดห่างจากเข็มที่ 3 อย่างน้อย 4 เดือน

  3. วัคซีนเข็มกระตุ้นที่ 3 (หรือวัคซีนเข็มที่ 5) เป็นต้นไป ขณะนี้ยังไม่มีคำแนะนำที่หนักแน่น พิจารณาฉีดด้วยความสมัครใจของแต่ละบุคคลภายใต้คำแนะนำของแพทย์ อย่างไรก็ตามมีแนวโน้มในอนาคตที่จะต้องฉีดกระตุ้นตามช่วงเวลาคล้ายไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (โปรดติดตามคำแนะนำในอนาคต)

  4. ผู้ที่ติดเชื้อมาแล้วสามารถฉีดวัคซีนได้เมื่อหายจากอาการแล้วและพ้นระยะกักตัว สามารถนับช่วงระยะห่างจากเข็มก่อนได้เช่นเดียวกับผู้ไม่เคยติดเชื้อ อย่างไรก็ตามผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติสามารถพิจารณาเลื่อนการฉีดออกไปได้ 3 เดือนหลังติดเชื้อ

  5. วัคซีนเข็มกระตุ้นแนะนำให้ใช้วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอเพื่อประสิทธิภาพสูงที่สุด โดยจะใช้ Pfizer หรือ Moderna ก็ได้ และสามารถสลับใช้ได้หากจำเป็น ขนาดของวัคซีนแนะนำให้ฉีดเต็มขนาด (ยกเว้น Moderna สามารถเลือกใช้เป็นขนาด 50 ไมโครกรัมได้) วิธีการฉีดแนะนำให้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (การฉีดเข้าผิวหนังแนะนำใช้เป็นทางเลือกเฉพาะบุคคลเท่านั้น)

  6. การฉีดวัคซีนโควิดสามารถฉีดร่วมกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่หรือวัคซีนชนิดอื่นๆ ได้โดยไม่ต้องเว้นระยะเวลา หากฉีดในวันเดียวกันแนะนำให้ฉีดที่แขนคนละข้าง

  7. ปัจจุบันมีการพัฒนาวัคซีนชนิดจำเพาะกับสายพันธุ์โอไมครอน แต่ยังไม่มีใช้ในประเทศไทยในเร็ววัน ดังนั้นจึงควรฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นที่มีในประเทศไทยไปก่อนโดยไม่ต้องรอ


วัคซีนโควิดเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคนในช่วงเวลาที่ยังมีการระบาดหรือแม้แต่การเป็นโรคประจำถิ่นในอนาคตการกลายพันธุ์ของไวรัส การลดลงของภูมิคุ้มกันเป็นเหตุหลักที่ต้องมีการฉีดกระตุ้น วัคซีนได้ผ่านการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ดังนั้นความร่วมมือของประชาชนทุกคนในการฉีดวัคซีน จะส่งผลดีต่อระบบสาธารณสุข สังคม เศรษฐกิจของประเทศและโลก

Copyright 2021 สมาคมอายุรศาสตร์ผู้ป่วยนอก - Ambulatory Medicine Association.