ความรู้

สำหรับประชาชน


10 เคล็ดลับ ห่างไกลโรคไต

อ. นพ.คณิน ธรรมาวรานุคุปต์
สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล


โรคไตเรื้อรังเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญซึ่งมีความชุกสูงถึงร้อยละ 8-16 ของประชากรทั่วโลกและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ประเทศไทยมีความชุกของโรคไตเรื้อรังสูงถึงร้อยละ 17.5 โดยมีจำนวนผู้ป่วยสะสมที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตเพิ่มขึ้นจาก 33,487 เป็น 151,343 คนในปี พ.ศ. 2551 และ 2562 ตามลำดับ นอกจากจากนี้โรคไตเรื้อรังยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือเสียชีวิตได้ในอนาคตด้วย 10 เคล็ดลับที่ช่วยให้เราห่างไกลจากโรคไต ได้แก่

  1. ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อร่างกาย ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 1.5-2 ลิตร หรือ 6-8 แก้วต่อวัน ชนิดของน้ำดื่มเป็นน้ำเปล่าธรรมดา ไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำกระด้าง เนื่องจากไม่มีข้อมูลว่ามีประโยชน์มากกว่าน้ำเปล่า

  2. หลีกเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะหรือโรคนิ่วในไต

  3. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่มีรสชาติเค็มเกินไป แนะนำให้ทานเกลือแกงไม่เกิน 5 กรัม หรือ 1 ช้อนชาต่อวัน หลีกเลี่ยงอาหารกระป๋อง หมักดอง แปรรูป หรือมีรสจัดมากเกินไป เพราะอาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และไตทำงานหนักขึ้น นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่มีโรคไตเสื่อมเรื้อรัง ยังแนะนำให้หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีโปรตีนมากกว่า 1.3 กรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมต่อวัน  เนื่องจากอาจส่งผลให้ไตทำงานหนักขึ้น เพิ่มความดันในหน่วยไตและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสื่อมของไตมากขึ้นในอนาคต

  4. ควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวาน หรือมีไขมันสูง

  5. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ออกกำลังกายหนักปานกลาง 150 นาทีต่อสัปดาห์ โดยออกกำลังกายวันละ 30-50 นาที 3-5 วันต่อสัปดาห์ เพื่อลดน้ำหนักตัว และลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

  6. งดสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่จะทำให้เส้นเลือดในร่างกายทำงานไม่ดี เพิ่มความเสี่ยงทั้งโรคปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงโรคไตด้วย

  7. หลีกเลี่ยงการซื้อยาแก้ปวด หรือแก้อักเสบ ยาบางกลุ่ม ได้แก่ ยาแก้ปวดข้อ แก้ปวดกล้ามเนื้อ ลดอักเสบ โดยเฉพาะยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เนื่องจากมีสารที่มีอันตรายต่อไต หากกินต่อเนื่องเป็นเวลานานจะทำให้ไตวายได้ ไม่แนะนำให้ซื้อยาแก้ปวดรับประทานเอง

  8. ปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง ก่อนซื้อยาหรือสมุนไพรบำรุงไตมารับประทาน อาหารหรือวิตามินเสริมและสมุนไพรที่มีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง อาทิ เช่น ถังเช่า เห็ดหลินจือ ป่าช้าเหงา ไคร้เครือ วิตามิน สมุนไพรจีนต่าง ๆ เป็นต้น มักมีส่วนผสมของสารพิษที่ทำให้ไตได้รับบาดเจ็บ หรืออาจมีส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์บางอย่างมีมากเกินไป ดังนั้นจึงไม่ควรซื้อยาเหล่านี้มารับประทานเอง หากต้องการใช้ยาตามโฆษณาควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ทุกครั้ง 

  9. รักษาโรคประจำตัวสม่ำเสมอ การรักษาความดันโลหิต ระดับน้ำตาลและระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเป้าหมายที่เหมาะสม จะช่วยชะลอความเสื่อมของไตและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคตได้ 

  10. หากมีคนในครอบครัวเป็นโรคไต ควรไปปรึกษาแพทย์ และติดตามค่าการทำงานของไตอย่างต่อเนื่อง

Copyright 2021 สมาคมอายุรศาสตร์ผู้ป่วยนอก - Ambulatory Medicine Association.