หลักการป้องกันโรค NCDs
ผศ. นพ.ชัยวัฒน์ วชิรศักดิ์ศิริ
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ non-communicable diseases (NCDs) เป็นกลุ่มโรคสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพและเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างในประเทศไทย พบว่าประชากรส่วนมากเสียชีวิตจากโรคในกลุ่มนี้มากกว่ากลุ่มโรคติดเชื้อ เช่น โรคเอดส์ วัณโรค และโรคมาลาเรีย โรคกลุ่ม NCDs ประกอบด้วยโรคหลากหลายที่มีผลมาจากพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมที่สะสมมาเป็นเวลานาน เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วนและอ้วนลงพุง โรคถุงลมโป่งพองหรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหรือปัญหาทางสุขภาพจิตบางประเภท รวมถึงโรคมะเร็ง
พฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่มีข้อมูลว่าสัมพันธ์กับการเกิดโรคในกลุ่ม NCDs ได้แก่ การรับประทานอาหารรสเค็มหรืออาหารที่มีเกลือโซเดียมสูง การรับประทานอาหารหวานอยู่เป็นประจำ การรับประทานอาหารมันบ่อย ๆ การรับประทานผักและผลไม้หรืออาหารที่มีใยอาหารในปริมาณที่ต่ำ การที่มีกิจกรรมเนือยนิ่งที่มากเกินไปในแต่ละวัน และการดื่มสุรา การสูบบุหรี่เป็นนิจ ดังนั้นการที่จะป้องกันการเกิดโรคในกลุ่ม NCDs จำเป็นที่ทุกคนจะต้องมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม และที่สำคัญ คือ ต้องทำอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ การปรับพฤติกรรมเพื่อให้ตนเองออกห่างจากโรคกลุ่ม NCDs ควรใช้ตามหลัก 3 อ. ที่ประกอบไปด้วย อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ และ 2 ส. ที่ต้องละเว้น ได้แก่ สุรา และ สูบบุหรี่
อาหาร แนะนำว่าทุกคนควรรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับตนเอง ภาวะความเสี่ยง รวมถึงโรค เช่น หากมีความเสี่ยงในการเป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรเลี่ยงการรับประทานอาหารเค็มให้มาก ถ้าเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานก็ควรลดการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลในปริมาณที่สูงและอาหารที่จะทำให้อ้วนมากขึ้น ในคนที่ยังไม่พบความเสี่ยงใด ๆ ที่ชัดเจนแนะนำให้รับประทานอาหารสุขภาพในรูปแบบของ 2:1:1 ซึ่งทำได้โดยให้แบ่งจานอาหารที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 9 นิ้วเป็น 4 ส่วนเท่า ๆ กัน โดยให้ 1 ส่วน เป็นข้าวแป้งที่ไม่ขัดสี 1 ส่วนเป็นเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน ส่วนอีก 2 ส่วนหรือครึ่งจานที่เหลือเป็นผักใบเขียว
ออกกำลังกาย แนะนำให้ทุกคนออกกำลังกายแบบแอโรบิคหรือออกกำลังกายเพื่อให้หัวใจแข็งแรง ด้วยความหนักระดับปานกลางให้ได้ 30 นาทีต่อวันอย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ ร่วมกับมีการออกกำลังกายแบบใช้แรงต้านเพื่อฝึกกล้ามเนื้ออีก 2 วันต่อสัปดาห์ โดยในทุกครั้งที่ออกกำลังกายแนะนำเตรียมตัวก่อนและหลังการออกกำลังกายเพื่อป้องกันการเกิดการบาดเจ็บเสมอ ลดเวลาของกิจกรรมแบบเนือยนิ่ง เช่น การนั่งเล่นมือถือ นอนดูโทรทัศน์ นั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน
อารมณ์ เป็นสิ่งที่หลายคนมองข้าม แต่กลับเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการจะทำให้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นไปอย่างยั่งยืน หลายคนมีความรู้ดีในเรื่องของอาหารและหลักการของการออกกำลังกายแต่ก็ยังไม่สามารถปฏิบัติในสิงที่ดีที่ควรจะเป็นได้ สิ่งเหล่านี้เกิดเนื่องจากคนเหล่านี้ยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองให้มีความมุ่งมั่นเพียงพอ
การตั้งเป้าหมายที่ดีและเป็นจริงได้ ร่วมกับการมองหาแรงจูงใจที่เหมาะสมและชัดเจนในการควบคุมอารมณ์ในเชิงลบ เช่น ความรู้สึกท้อแท้ เหน็ดเหนื่อย หรือขี้เกียจได้รวมถึงการผลักดันให้มีพฤติกรรมที่ดีให้มีอย่างยาวนานได้
ในส่วนของ 2 สิ่งที่ต้องงด คือสุราและสูบบุหรี่นั้น เป็นที่ชัดเจนว่าทั้งสองอย่างนี้มีผลต่อการเกิดโรคในกลุ่ม NCDs โดยพบว่าสุราเองมีความสัมผัสกับการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ และควันบุหรี่เองก็มีสารพิษไม่ต่ำกว่า 250 ชนิดและสารก่อมะเร็งอีกราว 70 ชนิด ด้วยเหตุเหล่านี้ทุกคนจึงควรงดเว้นจากสองสิ่งนี้เพื่อสุขภาพที่ดีของตนเอง
จะเห็นว่าการทีจะป้องกันตัวเองจากโรคกลุ่ม NCDs ไม่ใช่เรื่องยาก เนื่องจากปัจจัยการเกิดโรคเกิดจากพฤติกรรมของตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ควบคุม เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขได้ ขึ้นกับความตั้งใจ ความตระหนัก และการเข้าใจในความเสี่ยงที่ตนเอง สุดท้ายอยากให้ทุกคนจำไว้เสมอว่า “สุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ต้องสร้างเอง” และ “ในการป้องกันโรค NCDs มีแต่ต้องปรับพฤติกรรมของตนเอง” จึงจะสามารถสร้างพฤติกรรมสุขภาพที่ดี เพื่อเป็นเกราะป้องกันโรค NCDs ต่อไป