ความรู้

สำหรับประชาชน


การลดน้ำหนักโดยการทำ IF

อ. นพ.ปรัชญ์ โฆสรัสวดี
งานอายุรกรรม โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์


การรับประทานอาหารแบบอดช่วงหนึ่ง และรับประทานอาหารช่วงหนึ่งนั้น ได้รับความนิยมมาเป็นระยะเวลามากกว่า 20 ปี ในแง่สามารถลดน้ำหนักและทำให้สุขภาพดี ยิ่งไปกว่านั้น ในทางพระพุทธศาสนา วิธีนี้ก็เป็นบัญญัติแห่งพระธรรมวินัยที่เหล่าพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าถือปฏิบัติสืบต่อกันมา และเป็นที่น่าสังเกตว่าเหล่าพระภิกษุที่ บริโภค (ฉัน) อาหารเพียง 1 มื้อ/วัน ส่วนใหญ่มีอายุขัยที่ยืนยาวและสุขภาพดี

C:\Users\HP X360\AppData\Local\Microsoft\Windows\INetCache\Content.Word\thumbnail_IMG_4058.png

IF คือ อะไร?

IF หรือ Intermittent Fasting คือ การจำกัดการรับประทานอาหารเป็นช่วงเวลา ถ้าแบ่งง่าย ๆ ในการรับประทานอาหารแต่ละวัน จะแบ่ง เป็นสองช่วง ได้แก่ ช่วงกิน (Feeding) และ ช่วงอด (Fasting) ซึ่งหลักการของการทำ IF ให้ประสบผลสำเร็จในการลดน้ำหนักนั้น จะเน้นที่ ช่วงเวลาอดอาหาร ซึ่งถ้า ช่วงเวลาอดอาหารนานพอและต่อเนื่อง ก็จะลดน้ำหนักได้

ทำไมทำ IF แล้วน้ำหนักลดได้?

ปกติแล้วเมื่อร่างกายอดอาหาร จึงมีการนำพลังงานที่สะสมไว้ในร่างกายมาใช้ โดยช่วงแรกของการอดอาหาร ร่างกายจะนำไกลโคเจน (glycogen) ที่สะสมในตับมาใช้เป็นพลังงานของร่างกาย และหลังจากนั้นเมื่อเวลาผ่านไป ประมาณ 8-12 ชั่วโมง ร่างกายจะเริ่มสลายไขมันมาใช้ ตรงนี้ก็จะทำให้น้ำหนักลดลงนั่นเอง

ข้อดีข้อเสียของการทำ IF?

ข้อดี น้ำหนักตัวลดลง และเมื่อน้ำหนักตัวลดลงก็ส่งผลให้สุขภาพด้านอื่น ๆ ดีขึ้นด้วย เช่น ความดันโลหิตลดลง,
การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดดีขึ้น, ไขมันพอกตับลดลง เป็นต้น  นอกจากนี้ มีงานวิจัยหลายฉบับที่แสดงให้เห็นถึง ประโยชน์มากกว่า การที่น้ำหนักตัวลดลง เช่น การทำ IF ช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิต (Survival rate) ในคนไข้มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer) และ มะเร็งสมองชนิด Glioblastoma, การทำ IF ช่วยลดการดำเนินโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) และอัลไซม์เมอร์ (Alzheimer’s disease) เป็นต้น และ ข้อดีของการทำ IF ที่กำลังเป็นที่สนใจอย่างมาก คือ จากข้อมูลการสังเกต และงานวิจัย พบว่า การทำ IF สามารถชะลอวัยและยืดอายุขัย ได้อีกด้วย

ข้อเสีย ถึงปัจจุบัน ยังไม่พบข้อเสียโดยตรงสำหรับวิธีการทำ IF ตามกระบวนการ แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการทำ IF อาจไม่เหมาะสำหรับคนทุกกลุ่ม เช่น กลุ่มคนตั้งครรภ์, กลุ่มเด็ก, กลุ่มคนป่วยหนัก เป็นต้น จึงควรติดตามต่อไปสำหรับข้อเสียที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากการทำ IF

ทำ IF อย่างไร?

ดังที่กล่าวแล้วว่าความสำเร็จขึ้นกับช่วงเวลาอดอาหารที่นานพอ สูตรทั่วไปที่ใช้ ได้แก่ การอดอาหารต่อเนื่องประมาณ 18 ชั่วโมง และ ช่วงกิน 6 ชั่วโมง เรียกว่า สูตร IF 18/6 นั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น รับประทานอาหาร 6.00 น. ถึง 12.00 น. (กิน 6 ชั่วโมง และ อด 18 ชั่วโมง) คือ ตั้งแต่ 12.00 น. จนถึง 6.00 น. ของวันถัดไป โดยระหว่าง ช่วงอด สามารถ ดื่มน้ำเปล่า, กาแฟดำ หรือชาดำที่ไม่มีน้ำตาลได้ นอกจากนี้ ยังมีสูตรอื่นๆสำหรับการทำ IF เช่น IF 20/4 (ช่วงอดอาหาร 20 ชั่วโมงและ ช่วงกิน 4 ชั่วโมง), IF 23/1 (ช่วงอดอาหาร 23 ชั่วโมง และ ช่วงกิน 1 ชั่วโมง)

C:\Users\HP X360\AppData\Local\Microsoft\Windows\INetCache\Content.Word\thumbnail_IMG_4059.png

สรุป

การทำ IF ที่ถูกต้อง มีประโยชน์ในการลดน้ำหนัก และประโยชน์สุขภาพด้านอื่น ๆ สำหรับผู้ที่สนใจ ควรศึกษาและปรึกษานักโภชนาการ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและประโยชน์สูงสุด


Copyright 2021 สมาคมอายุรศาสตร์ผู้ป่วยนอก - Ambulatory Medicine Association.