การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
รศ. ดร. พญ.พจมาน พิศาลประภา
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่พบบ่อยเป็นอันดับที่ 3 และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเป็นอันดับที่ 2 จึงมีความสำคัญทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย โรคมะเร็งชนิดนี้ในระยะแรก คือ ระยะติ่งหรือก้อนเนื้องอกขนาดเล็กในลำไส้ใหญ่มักจะไม่มีอาการ การวินิจฉัยได้จึงมักเป็นระยะท้ายของโรค ทำให้ได้รับผลการรักษาที่ไม่ดี โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่พบมากในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เพศชายมากกว่าเพศหญิง มีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ โรคอ้วน ขาดการออกกำลังกาย การกินอาหารรูปแบบตะวันตกและอาหารเนื้อแดง เป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง และมีประวัติโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว
อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ การขับถ่ายอุจจาระผิดปกติไปจากเดิม ท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายอุจจาระลำเล็กลง ปวดเบ่ง ถ่ายไม่สุด ถ่ายอุจจาระปนมูก สีดำหรือปนเลือด อ่อนเพลียจากอาการโลหิตจาง ปวดท้อง ท้องอืด ท้องโตขึ้น คลำได้ก้อนที่ท้อง เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง หรืออาการอื่น ๆ จากโรคมะเร็งแพร่กระจาย เช่น ตัวตาเหลืองจากโรคมะเร็งแพร่กระจายไปที่ตับ
การตรวจคัดกรองเป็นนโยบายระดับประเทศเนื่องจากทำให้สามารถตรวจพบในระยะเริ่มต้นและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ มีคำแนะนำให้ตรวจคัดกรองเมื่ออายุ 45-50 ปีขึ้นไป และไม่ควรตรวจคัดกรองในผู้ที่มีอายุมากกว่า 85 ปี หรือผู้ที่คาดว่าจะมีอายุขัยเหลืออยู่น้อยกว่า 10 ปี โดยมีวิธีการตรวจคัดกรอง ได้แก่
การตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ หากผลตรวจพบมีเลือดแฝงในอุจจาระควรตรวจเพิ่มเติมต่อด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ หากผลตรวจไม่พบมีเลือดแฝงในอุจจาระแนะนำให้ตรวจซ้ำทุก 1 ปี
การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการตรวจพบติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ และยังสามารถตัดออกเพื่อป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ แนะนำให้ตรวจซ้ำทุก 10 ปี แต่การตรวจมีความเสี่ยงจากการได้ยากล่อมประสาท ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจและหลอดเลือด และความเสี่ยงจากการทำหัตถการเอง เช่น เลือดออก ลำไส้ใหญ่ทะลุ (ซึ่งพบได้น้อยมาก) ร่วมกับต้องมีการเตรียมลำไส้ก่อนส่องกล้องและมีราคาแพง
เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ใหญ่ โดยจะสร้างภาพ 3 มิติเสมือนส่องกล้องเข้าไปในลำไส้ใหญ่ แนะนำให้ตรวจซ้ำทุก 5 ปี มีข้อเสีย คือ ราคาแพง ยังไม่สามารถทำได้โดยทั่วไป และหากพบความผิดปกติจะต้องส่งตรวจเพิ่มเติมต่อด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่
จะเห็นได้ว่าการตรวจคัดกรองชนิดต่าง ๆ มีทั้งข้อดีและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน ควรเลือกตามความเหมาะสมกับผู้ตรวจคัดกรองในแต่ละราย โดยต้องมีความพึงพอใจและยินยอมเข้ารับการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ จึงจะส่งผลให้นโยบายการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ของประเทศไทยสามารถทำได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การลดลงของจำนวนผู้ป่วยและการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ในที่สุด